ออนไลน์ : 20
ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือโรคโควิด-19(COVID-19)ว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อหายดีและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้อีก 1 ราย เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น จึงมีผู้ป่วยหายดีกลับบ้านได้แล้ว 20 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 15 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2 ราย อาการยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ รวมผู้ป่วยสะสมคงที่เท่าเดิม 35 ราย
ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง 1,252 ราย กลับบ้านแล้ว 1,006 ราย ยังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 246 ราย ทั้งนี้ การที่มีตัวเลขผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นแสดงว่าระบบไม่ได้หย่อนยานยังมีการคัดกรองเข้มเพิ่มมากขึ้น
- จับตาพิเศษอิตาลี
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19ทั่วโลกพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ประเทศที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมที่ประเทศไทยมีการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากประเทศจีน รวมถึง ฮ่องกง มาเก๊า และจีนไทเป ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตาประเทศอิตาลีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีรายงานการพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่พอสมควร หากพบว่าไม่สามารถคุมสถานการณ์การระบาดได้ และมีการระบาดในประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็จะมีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอิตาลีอย่างเข้มข้นทันที เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆที่พบการระบาดภายในประเทศแล้วก่อนหน้านี้
“ความเสี่ยงรายบุคคลของคนไทยที่อยู่ภายในประเทศไทยต่ำมาก โอกาสที่จะเดินไปแล้วติดเชื้อจากคนที่เดินไปมาในประเทศถือว่าต่ำ แม้ความเสี่ยงของประเทศไทยที่จะเจอการระบาดในประเทศเพิ่มขึ้นเหมือนในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ยังต่ำอยู่ แต่ความเสี่ยงกำลังค่อยๆเพิ่มขึ้น แต่ยังเพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำ จากการที่มีประเทศที่พบการแพร่ระบาดเพิ่มจำนวนมากขึ้น และผู้เดินทางจากประเทศเหล่านี้มีโอกาสที่จะเป็นผู้ติดเชื้อเข้ามาในประเทศได้” นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าว
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไปในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรค ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะติดโรคกลับมาเช่นกัน ยิ่งไปในประเทศหรือเมืองที่มีการระบาดมาก โอกาสเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีนโยบายในการห้ามการเดินทางหรือกักตัวผู้เดินทาง
ทั้งนี้ ผู้เดินทางควรที่จะต้องตรวจสอบก่อนเดินทางว่าประเทศ หรือเมืองที่จะไปมีการระบาดและพบผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน หากเป็ประเทศหรือเมืองที่มีการระบาด การเดินทางที่ไม่จำเป็นขอให้เลื่อน ถ้าจำเป็นต้องไปจะต้องไม่ไปในสถานที่แออัดที่มีคนจำนวนมาก หลีกเลี่ยงคนไอ จาม ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ
เมื่อกลับมาสู่ประเทศไทย จะมีการคัดกรองที่สนามบิน ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบากจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ และหากพบมีอาการป่วยจะต้องถูกนำเข้าสู่ระบบการรักษาและสอบสวนโรค
- ยืดเยื้อเกิน 2 เดือน
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเจอการระบาดภายในประเทศเหมือนประเทศอื่นๆเช่นกัน เพราะตราบใดที่ประเทศอื่นๆรอบๆมีการระบาดมากขึ้น ก็ยากที่ประเทศไทยจะไม่มีการระบาด แต่ที่ยังสามารถชะลอการระบาดให้ช้ากว่าหลายๆประเทศ เป็นเรื่องดีเพราะจะทำให้สามารถเตรียมความพร้อมรับบและความเข้าใจของประชาชนในการรับสถานการณ์ได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านไปได้ คือ คนไทยทุกคน ที่จะต้องเข้าใจสถานการณ์ที่ตรงความเป็นจริง ไม่ตื่นตระหนก ไม่เชื่อข่าวลวง หรือเรื่องดราม่า จนมาหลอกหลอนตัวเอง แต่จะต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งจากประสบการณ์การรับมือกับโรคระบาดที่ผ่านมา สถานการณ์จะยังยืดเยื้อยาวนานไปอีก ไม่สามารถยุติได้ใน 1-2 เดือนแน่นอน จากการที่เริ่มมีประเทศอื่นๆพบการแพร่ระบาดมากขึ้น
- สำรองยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม
นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกด้วยว่า กรณียาฟาวิพิราเวียร์หรือฟาวิลาเวียร์ที่ประเทศจีนประกาศให้เป็นยามาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้นั้น ถือเป็นข่าวดี อย่างน้อยมีวิธีการจัดการกับโรคนี้ได้ ในส่วนของประเทศไทยมีการนำเข้ายาชนิดนี้มาก่อนที่ประเทศจีนจะมีการประกาศให้ใช้เป็นยารักษามาตรฐาน จากนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)ได้สั่งให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)ติดต่อบริษัทยาเพื่อนำเช้ายานี้มากขึ้น เพื่อสำรองให้เพียงพอในการดูแลคนไข้ อย่างไรก็ตาม จะนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่อาการหนักเท่านั้น เนื่องจากผู้ที่อาการไม่รุนแรง รักษาตามอาการได้